ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เลขที่ ๑๖๐ หมู่ที่ ๔ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา” 

โดย ดร.จรินทร์ชาติรุ่ง อธิการวิทยาลัยครูสงขลา ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต” จำนวน ๙ คน มี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต   สังขรัตน์  เป็นประธานกรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุไรรัตน์   นิพันธสัจก์  เป็นรองประธานกรรมการ  นางพิมพ์อำไพ  พุกพิบูลย์   นางคะนึงสุข  เวชกรรัตนากีรณวร นายสนอง สุวรรณวงค์ นางมณี  สกนธวุฒิ   นายสวัสดิ์  กาญจนสุวรรณ นางสาวจันทนา  วรรณกูล  เป็นกรรมการ  นางปราณี  มาศดิตถ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ       

 วิทยาลัยครูสงขลา ให้ขยายงานของ “ศูนย์เด็กเล็ก” ซึ่งนางสาวจรูญ   ปานเจริญ  หัวหน้าหมวดวิชาการศึกษาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๘ ณ อาคารชั่วคราว ทางทิศตะวันออกของอาคารเรียน ๔ เพื่อเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สำหรับนักศึกษาที่เรียนวิชาจิตวิทยาและวิชาการศึกษาปฐมวัย โดยใช้ นายเสนีย์  มีทรัพย์ เป็นผู้ดำเนินการศูนย์เด็กเล็กเป็นคนแรก ต่อมาจึงมอบให้ภาควิชาอนุบาลศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ จนถึงปี ๒๕๒๗ ให้ปรับปรุงอาคารเหลืองและอาคารชมพู และย้ายศูนย์เด็กเล็กไปจัดตั้งเป็นโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา

โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา ได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้อาคารเหลืองเป็นห้องเรียนชั้นประถมศึกษา ใช้อาคารชมพูเป็นห้องเรียนชั้นเด็กเล็กและชั้นอนุบาล มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน ๑๖๑ คน เป็นชั้นเด็กเล็ก ๓ ห้องเรียน มีนักเรียน ๗๒ คน ชั้นอนุบาล ๑ และ ๒ ชั้นละ ๑ ห้องเรียน  มีนักเรียน ๖๒ คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑ ห้องเรียน มีนักเรียน ๒๗ คน มีรองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต   สังขรัตน์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก นางจุไรรัตน์   นิพัทธสัจก์ เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมศึกษา และนางสาวนุชรี   ศรีจำนง เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเด็กเล็กและอนุบาล มีครูลูกจ้างชั่วคราว ๔ คน  และอาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ ของวิทยาลัยครูสงขลา มาช่วยดำเนินการด้านการเรียนการสอน การดำเนินงานของโรงเรียนดำรงอยู่ด้วยเงินค่าบำรุงการศึกษา และค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ปกครองนักเรียนตามอัตราที่กำหนดใน “ระเบียบสภาการฝึกหัดครู ว่าด้วยการเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมของโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครู” และเงินค่าอาคารตามอัตราที่โรงเรียนกำหนด โดยยึดหลักให้พึ่งตัวเองได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดในการก่อตั้ง การดำรงอยู่และการพัฒนาโรงเรียนก็คือ “ความศรัทธาของผู้ปกครองนักเรียน” ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเสียสละทั้งกำลังความคิด กำลังทรัพย์ และกำลังงาน เพื่อปรับปรุงโรงเรียนให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสูงขึ้นเป็นลำดับมาอย่างต่อเนื่องโดยผ่าน ชมรมผู้ปครอง”

เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้ปกครองได้รวมตัวกันเป็น “คณะกรรมการโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา” วิทยาลัยครูได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็น “ชมรมผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา” เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ชมรมผู้ปกครองได้เริ่มจัดหาเงินทุนและรับบริจาคเงินจากผู้ปกครองนักเรียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนสืบต่อกันมา

ปีการศึกษา ๒๕๒๙  สร้างอาคารเอนกประสงค์ ๑ หลัง

ปีการศึกษา ๒๕๓๑  ปรับพื้นที่และ ก่อสร้างอาคารเรียนชั้นเดียว ๕ ห้องเรียน เป็นเงิน ๓,๗๔๐,๐๐๐ บาท

ปีการศึกษา ๒๕๓๔  ได้จัดตั้ง  “มูลนิธิผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูสงขลา”  โดยมีนายแพทย์วิรัตน์  อนันตวรณิชย์ เป็นประธานคนแรก

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันราชภัฏ” แทนชื่อวิทยาลัยครู จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมเป็น “โรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏสงขลา

ปีการศึกษา ๒๕๓๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสาวนีย์  จันทร์เจิดศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ปีการศึกษา ๒๕๓๘ ครบรอบ ๑๐ ปี ของการก่อตั้งโรงเรียน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงเล็ก วรกุล เป็นผู้บริหารโรงเรียน ในตำแหน่ง “ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตฯ

ปีการศึกษา ๒๕๔๑ ได้รับงบประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ สร้างอาคารอนุบาล ๖ ห้องเรียน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฎล   นันทวงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ปีการศึกษา ๒๕๔๒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงจิต   แก้วอุบล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ปีการศึกษา ๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา” แทนชื่อสถานบันเดิม จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีการศึกษา ๒๕๕๑ ได้รับงบประมาณแผ่นดิน ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ สำหรับเล่นกีฬาในร่ม
 
ปีการศึกษา ๒๕๕๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อดุลย์ หวังจิ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ได้รับงบประมาณวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พืช 

ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ได้รับงบประมาณเงินคงคลัง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก่อสร้างอาคารเรียน ๓ ชั้น เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามสิบล้านบาทถ้วน)

            ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ เป็นรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 


            ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ดร.พรรณี ผุดเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 

            ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ  เป็นรักษาราชการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 

             ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ดร. ขนิษฐ์ สุวรรณคีรี  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา


        ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดสอนห้องเรียนปกติ ๑๙ ห้องเรียน จัดเป็นระดับบ้านสาธิตปฐมวัย จำนวน ๑ ห้องเรียน ชั้นอนุบาล ๑ - ๓ ชั้นละ ๒ ห้องเรียน  ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ MEP จำนวน ๑ ห้องเรียน ห้องเรียนปกติ ๑ ห้องเรียน และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ - ๖ ชั้นละ ๒ ห้องเรียน ห้องเรียนละไม่เกิน ๓๖ คน มีข้าราชการครูจำนวน ๒ คน ครูพนักงานราชการ ๕ คน ครูพนักงานมหาวิทยาลัย ๓ คน ครูพนักงานตามสัญญา ๒๕ คน ครูพิเศษจำนวน ๓ คน     เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปจำนวน ๔ คน   คนครัว ๔ คน  คนงาน ๓ คน  โดยมี ดร.ขนิษฐ์ สุวรรณคีรี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา